หน้าหลัก
บริการ
ข่าวและบทความ
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อ
ภาษา
เข้าสู่ระบบ

หน้าหลัก บทความสุขภาพ

PM 2.5 ภัยร้าย...อันตรายต่อสมอง

PM 2.5 ภัยร้าย...อันตรายต่อสมอง ภาวะมลพิษทางอากาศ ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ตะกั่ว ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นตัวชี้วัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้า PM 2.5 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมากเสียจนเราอาจคาดไม่ถึง ในปี 2560 มีข้อมูลพบว่าประชากรจำนวน 4.9 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 คิดเป็น 60% ของการเสียชีวิตเลยทีเดียว (GBD 2017 Risk Factor Collaborators, 2018) ดังนั้นเราคงต้องกลับมาใส่ใจเรื่องปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจาก PM 2.5 วันนี้ โรงพยาบาลเออีซี (aechospital) จะมาแบ่งปันข้อมูลของ PM 2.5 ให้ทุกคนได้ระวังภัยร้ายของ PM 2.5 กันให้มากขึ้น รู้หรือไม่ PM 2.5 ส่งผลต่อสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว Particulate Matter 2.5 หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครมิเตอร์หรือเล็กกว่า ซึ่งอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถผ่านการกรองของขนจมูกเข้าไปสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ทำให้ให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด หรือมะเร็งปอด ไม่เพียงเท่านี้ PM 2.5 ยังส่งผลต่อสมองอีกด้วย ในปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสกับ PM 2.5 อาจส่งผลเสียต่อสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ตระหนักถึงกันมากนักในเรื่องนี้ เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและมะเร็งเท่านั้น แต่…อย่างที่เรารู้กันว่า "สมอง" มีความสำคัญต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่าอวัยวะอื่นใด เช่นนี้แล้วเรามาดูกันว่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสมองของเราอย่างไรกันบ้าง ความบกพร่องทางสติปัญญา (Cognitive Impairment): มีการศึกษาพบว่า PM 2.5 ทำให้สมรรถนะการทำงานของสมองด้านความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Function) ลดลงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็ก ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความจำ ด้านความสนใจและจดจ่อ รวมถึงมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ลดลง ภาวะการอักเสบในสมอง: ฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้เกิดภาวะการอักเสบในสมองได้ เชื่อกันว่าการอักเสบส่งผลต่อการเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทต่างๆ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งอีกด้วย ผลกระทบด้านพัฒนาการ: การได้รับ PM 2.5 ในช่วงก่อนคลอดและในช่วงวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านระบบประสาทที่บกพร่องในเด็ก ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง และอาจเกิดโรคสมาธิสั้น (ADHD) และโรคออทิสติกได้ด้วย โรคทางสุขภาพจิต: มีบางการศึกษาเสนอความเชื่อมโยงกันระหว่างการสัมผัส PM 2.5 กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ โรคหลอดเลือดสมอง: การสัมผัสกับ PM 2.5 ในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้เกิดการอักเสบและทำลายหลอดเลือดในสมองได้นั่นเอง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ PM 2.5 ส่งผลคุกคามต่อสุขภาพสมองของเราเท่านั้น ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กำลังศึกษาถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การหันกลับมาดูแลตัวเอง ป้องกันและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM 2.5 คงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่ควรละเลยอีกต่อไป ดูแลสมองโดยการป้องกัน PM 2.5 ในเมื่อเรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของ PM 2.5 ที่กำลังเผชิญในขณะนี้ให้หมดไปได้ เราคงทำได้เพียงหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสกับ PM 2.5 ให้ได้มากที่สุด เพื่อการดูแลและป้องกันสุขภาพสมองของเราจากภาวะมลพิษทางอากาศ hhc Thailand มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ ตรวจสอบระดับคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นประจำ เช่น แอป Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษหรือแอปอื่นๆ บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อวางแผนในการทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้งให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช้าและเย็นซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่มีมลพิษสูงสุดของวัน จำกัดกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากๆ กลางแจ้งในวันที่มีมลพิษสูง เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน เนื่องจากการใช้กำลังมากจะส่งผลให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถรับปริมาณ PM 2.5 ได้มากกว่าสภาวะปกติ สวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกในช่วงวันที่มีมลพิษสูง ควรสวมหน้ากากที่กระชับและพอดีกับใบหน้าที่ออกแบบมาเพื่อกรองอนุภาค PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากาก N95 หรือ N99 สร้างสภาพแวดล้อมภายในอาคารหรือที่พักอาศัยให้สะอาดและมีการระบายอากาศที่ดี โดยการไม่สูบบุหรี่และจุดธูปเทียนภายในอาคาร การปิดหน้าต่างและประตูในวันที่อากาศมีมลพิษสูงและใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA เพื่อกำจัดอนุภาค PM 2.5 ออกจากอากาศภายในอาคาร ปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษ การปลูกต้นไม้สามารถช่วยดูดซับมลพิษรวมถึง PM 2.5 และช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นได้ แต่หากคุณมีพื้นที่ไม่มากพอที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ การเลือกปลูกไม้ประดับที่ช่วยดูดสารพิษในอากาศได้ดีก็เป็นทางเลือกที่ดี เช่น พลูด่าง เศรษฐีเรือนใน วาสนาอธิษฐาน เป็นต้น หากเราทุกคนตระหนักถึงภัยคุกคามจากภาวะมลพิษทางกาอากาศรวมถึง PM 2.5 การป้องกันและหลีกเลี่ยงคงไม่เพียงพอ เราคงต้องช่วยกันลดการปลดปล่อยมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง ทางเดินหายใจ หรือโรคมะเร็ง ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นที่ต้องการทั้งนั้น เริ่มต้นดูแล ใส่ใจตัวเองและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะ ขอขอบคุณข้อมูลจาก : hhcthailand

ไข้หวัดใหญ่ อันตรายกว่าที่คิด

ด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย อาจส่งผลให้มีอาการป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย และมักเกิดขึ้นบ่อย ๆ โรคไข้หวัดใหญ่ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่ระบาดในเด็กเป็นจํานวนมากโดยเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี ในวันนี้ โรงพยาบาลเออีซี (aechospital) จะมาแบ่งปันข้อมูลที่ควรรู้ เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่นี้กัน ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สามารถจําแนก ออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B และ C โดยแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ อีกหลายชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง คือ ชนิด A และ B ส่วน สายพันธุ์ชนิด C มักไม่รุนแรง และพบประปราย มาทำความรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่กันให้มากขึ้น โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งเชื้อนี้มีหลายชนิดมากพอที่จะทำให้สามารถแยกไข้หวัดใหญ่ในคนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีก อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง 2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมมาก จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในวงกว้าง ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่จะแสดงอาการ ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีกล้ามเนื้ออักเสบ และอาการทางระบบหายใจตั้งเเต่ นํ้ามูก ไอมาก หรือ หากรุนเเรง อาจมีอาการหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ เสียชีวิต และอาจมีอาการที่ระบบอื่นอย่าง ระบบประสาท เช่น ไข้สูงเเล้วชัก ซึม หรือ ไข้สมองอักเสบได้ โดยทั่วไปหากเด็กปกติที่มีสุขภาพดีติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มักจะหายได้เองใน 7 วัน เเต่มีบางรายเกิดการติดเชื้อเเล้ว แสดงอาการรุนเเรงตามที่ กล่าวมา ส่วนเด็กที่มีโรคประจําตัว เช่น โรคหืด โรคหัวใจ เด็กที่ต้องกินยา Aspirin หรือในเด็กเล็กกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงใน การเกิดการติดเชื้อที รุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้อย่างไร 1.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย 2.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น 3.ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย 4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และใช้ช้อนกลาง 5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6.ดื่มน้ำสะอาด 7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 8.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น 9.ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพิ่มเติมจากตารางฉีดวัคซีนตามปกติ แนะนำให้ฉีดกับคนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 19 ปี คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่จะต้องไปคลินิกหรือไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ ช่วงฤดูไข้หวัด ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล คนที่กินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แม้ไข้หวัดใหญ่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ถ้าเรารู้เท่าทันและป้องกันตัวเอง ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง

ทำไมแรงงานต่างด้าวจึงต้องตรวจสุขภาพ

ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่สำหรับบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น สำหรับเราแล้วเรื่องสุขภาพสำคัญกับทุกคนทุกเชื้อชาติ แน่นอนว่าผู้ที่เป็นแรงงานต่างด้าวเองย่อมต้องการสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคร้ายเช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่เราแนะนำ แล้วทำไมแรงงานต่างด้าวจึงต้องควรตรวจสุขภาพล่ะ ? ในวันนี้ โรงพยาบาลเออีซี (aechospital) จะมาแบ่งปันข้อมูลเรื่องนี้กัน สุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญแรงงานต่างด้าวเองต้องทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีสภาวะอากาศไม่ปลอดโปร่งเหมือนแต่ก่อนด้วยฝุ่น PM 2.5 ดังนั้นจึงควรป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้เพื่อความมั่นใจในร่างกายของตนเองจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกายด้วย ไม่เพียงแค่เท่านั้นตลอดเวลาที่ผ่านมายังมีโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ ครั้งอาจมียาที่สามารถรักษาได้ แต่ในบางครั้งก็ไม่มียารักษาเช่นกัน ยิ่งเป็นแบบนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าการตรวจสุขภาพสำคัญเพียงใด หากเราละเลยการตรวจสุขภาพจะทำให้เราไม่รู้ถึงรายละเอียดของร่างกายตนเองและภาวะเสี่ยงโรคที่ซ่อนอยู่ เนื่องจากบางโรคต้องตรวจก่อนจึงจะพบและทำการรักษาต่อไปได้ ฟันเฟืองสำคัญของสถานประกอบการ สถานประกอบการน้อยใหญ่หลายแห่งต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวในการทำงาน หากขาดพวกเขาจะส่งผลต่อกิจการได้โดยตรงยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศที่เต็มไปด้วย PM 2.5 หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อทุกคนในสถานประกอบการ หากสถานประกอบการละเลยเรื่องสุขภาพของแรงงานต่างด้าวจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คุณลองคิดภาพคนงาน 1 คนติดเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดได้ โดยไวรัสดังกล่าวแทบจะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เราสังเกตเห็นได้เลย และในเวลาต่อมาเพียงไม่กี่วันไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายไปยังคนงานใกล้เคียงไปหลายคน ก่อนที่หลังจากนั้นคนงานที่ติดเชื้อคนแรกจะแสดงอาการออกมาจนสังเกตเห็นได้ แล้วพนักงานคนอื่น ๆ ล่ะ ? คงจะดีกว่าหากพนักงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นต่างด้าวหรือไม่ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ราคาที่เอื้อมถึงได้ หลาย ๆ คนอาจเห็นว่าโปรแกรมตรวจสุขภาพมีราคาที่แตกต่างกัน และอาจคิดว่าการตรวจสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวอาจมีราคาสูง ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจ รวมถึงความปลอดภัยให้กับสถานประกอบการและเพื่อสุขภาพที่ดีของแรงงานต่างด้าว เราได้จัดโปรแกรมตรวจสุขภาพในราคาเพียง 500 บาทเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนได้มีสุขภาพที่ดี เพราะเราอยากให้ทุกคนมองว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ใบรับรองแพทย์สำหรับแรงงานต่างด้าว ในการขอรับใบรับรองแพทย์ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากจำเป็นต้องนำไปยื่นเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตในการทำงานที่กระทรวงแรงงานต่อไป โดยผู้เข้ารับการตรวจสามารถยืนยันตัวตนเพื่อตรวจสุขภาพโดยใช้ Passport เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ทำการตรวจสุขภาพก็เท่ากับว่าจะไม่มีใบรับรองแพทย์เพื่อใช้ยื่นขอใบอนุญาตในการทำงานนั่นเอง ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช

โรงพยาบาลเออีซี

เลขที่ 5/107 หมู่ 1 ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ห้วยกะปิ เมือง ชลบุรี 20000

061-350-6197

           

แผนที่และการเดินทาง

โรงพยาบาลเออีซี

เลขที่ 5/107 หมู่ 1 ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ห้วยกะปิ เมือง ชลบุรี 20000

   061-350-6197

              

ฝากข้อความติดต่อกลับ

กดติดตามรับข่าวสาร

Copyrights © 2025 All Rights Reserved. www.aechospital.com Version 1.0. Designed by WEB-BEE-DEV. +68,806 Times.