หน้าหลัก บทความสุขภาพ กรมควบคุมโรค
Visited +14 Times
กรมควบคุมโรค เตือนเข้าสู่กดูร้อน กลุ่มเสี่ยงและ คนทำงานกลางแจ้งระวัง โรคลมร้อนหรือฮีสโตรก
กรมควบคุมโรค เตือนเข้าสู่กดูร้อน กลุ่มเสี่ยงและ คนทำงานกลางแจ้งระวัง โรคลมร้อนหรือฮีสโตรก . กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงฤดูร้อนให้ระวังการเกิดโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) สำหรับคนที่ทำงานกลางแจ้ง ควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ เข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ และหากสูญเสียเหงื่อมาก ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ เน้นย้ำโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด เป็นต้น อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ต้องระมัดระวังเช่นกัน . วันนี้ (18 มีนาคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในหลายพื้นที่เริ่มมีอากาศร้อนปกคลุม ซึ่งกรมอุตุฯ คาดการณ์ว่าอุณหภูมิปีนี้จะลดลงกว่าปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วย จากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) ที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รวบรวมรายงานการเสียชีวิตที่อาจจะเกี่ยวข้องกับความร้อน จากภาวะอากาศร้อนในปี พ.ศ. 2567 พบรายงานผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 63 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย และเพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 30 – 95 ปี (เฉลี่ย 62 ปี) ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 25 มีรายงานการเสียชีวิตใน 31 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี 9 ราย ชัยภูมิ นครราชสีมา และศรีสะเกษ จังหวัดละ 4 ราย ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ และสมุทรสงคราม จังหวัดละ 3 ราย ชลบุรี ชัยนาท ปราจีนบุรี แพร่ ลำปาง ลำพูน และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ นครนายก นครศรีธรรมราช น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ระยอง สมุทรปราการ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย . “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อนสูงที่สุด ร้อยละ 54 นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 51 ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การดื่มสุราในภาวะอากาศร้อน และการเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานกลางแจ้ง ร้อยละ 62 หากจำแนกรายเดือน พบว่า มีรายงานการเสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน ร้อยละ 70 ซึ่งเดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียส (°C)” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว . นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) ว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนสูงมาก โดยเฉพาะอุณหภูมิที่มากกว่า 40 องศาเซลเซียส จนทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ มีอาการ คือ ตัวร้อน วิงเวียน ปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง เป็นลม อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก พูดจาสับสน หากพบผู้เริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และให้ดื่มน้ำมากๆ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 . ทั้งนี้ สามารถป้องกันฮีทสโตรกได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมทั้งเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป 2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ 3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศร้อน อับ และถ่ายเทไม่ดี 5. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ เพราะจะสะสมความร้อนได้ ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน และไม่รัดแน่นจนเกินไป 6. ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก รถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10 – 20 นาที และ 7. ไม่ควรอยู่กลางแจ้งคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่ม เพราะหากมีอาการผิดปกติจะได้มีคนช่วยเหลือได้ทัน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 . ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค วันที่ 18 มีนาคม 2568
หรือนัดหมายแพทย์ล่วงหน้า ได้ที่ ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเออีซี
ช่องทางติดต่อเพิ่มเติม
034-428491, 034-428492, 034-428493, 034-428494 ต่อ 124,118
ทำไมแรงงานต่างด้าวจึงต้องตรวจสุขภาพ
ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่สำหรับบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น สำหรับเราแล้วเรื่องสุขภาพสำคัญกับทุกคนทุกเชื้อชาติ แน่นอนว่าผู้ที่เป็นแรงงานต่างด้าวเองย่อมต้องการสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคร้ายเช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่เราแนะนำ แล้วทำไมแรงงานต่างด้าวจึงต้องควรตรวจสุขภาพล่ะ ? ในวันนี้ โรงพยาบาลเออีซี (aechospital) จะมาแบ่งปันข้อมูลเรื่องนี้กัน สุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญแรงงานต่างด้าวเองต้องทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีสภาวะอากาศไม่ปลอดโปร่งเหมือนแต่ก่อนด้วยฝุ่น PM 2.5 ดังนั้นจึงควรป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้เพื่อความมั่นใจในร่างกายของตนเองจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกายด้วย ไม่เพียงแค่เท่านั้นตลอดเวลาที่ผ่านมายังมีโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ ครั้งอาจมียาที่สามารถรักษาได้ แต่ในบางครั้งก็ไม่มียารักษาเช่นกัน ยิ่งเป็นแบบนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าการตรวจสุขภาพสำคัญเพียงใด หากเราละเลยการตรวจสุขภาพจะทำให้เราไม่รู้ถึงรายละเอียดของร่างกายตนเองและภาวะเสี่ยงโรคที่ซ่อนอยู่ เนื่องจากบางโรคต้องตรวจก่อนจึงจะพบและทำการรักษาต่อไปได้ ฟันเฟืองสำคัญของสถานประกอบการ สถานประกอบการน้อยใหญ่หลายแห่งต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวในการทำงาน หากขาดพวกเขาจะส่งผลต่อกิจการได้โดยตรงยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศที่เต็มไปด้วย PM 2.5 หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อทุกคนในสถานประกอบการ หากสถานประกอบการละเลยเรื่องสุขภาพของแรงงานต่างด้าวจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คุณลองคิดภาพคนงาน 1 คนติดเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดได้ โดยไวรัสดังกล่าวแทบจะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เราสังเกตเห็นได้เลย และในเวลาต่อมาเพียงไม่กี่วันไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายไปยังคนงานใกล้เคียงไปหลายคน ก่อนที่หลังจากนั้นคนงานที่ติดเชื้อคนแรกจะแสดงอาการออกมาจนสังเกตเห็นได้ แล้วพนักงานคนอื่น ๆ ล่ะ ? คงจะดีกว่าหากพนักงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นต่างด้าวหรือไม่ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ราคาที่เอื้อมถึงได้ หลาย ๆ คนอาจเห็นว่าโปรแกรมตรวจสุขภาพมีราคาที่แตกต่างกัน และอาจคิดว่าการตรวจสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวอาจมีราคาสูง ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจ รวมถึงความปลอดภัยให้กับสถานประกอบการและเพื่อสุขภาพที่ดีของแรงงานต่างด้าว เราได้จัดโปรแกรมตรวจสุขภาพในราคาเพียง 500 บาทเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนได้มีสุขภาพที่ดี เพราะเราอยากให้ทุกคนมองว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ใบรับรองแพทย์สำหรับแรงงานต่างด้าว ในการขอรับใบรับรองแพทย์ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากจำเป็นต้องนำไปยื่นเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตในการทำงานที่กระทรวงแรงงานต่อไป โดยผู้เข้ารับการตรวจสามารถยืนยันตัวตนเพื่อตรวจสุขภาพโดยใช้ Passport เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ทำการตรวจสุขภาพก็เท่ากับว่าจะไม่มีใบรับรองแพทย์เพื่อใช้ยื่นขอใบอนุญาตในการทำงานนั่นเอง ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช
ไข้หวัดใหญ่ อันตรายกว่าที่คิด
ด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย อาจส่งผลให้มีอาการป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย และมักเกิดขึ้นบ่อย ๆ โรคไข้หวัดใหญ่ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่ระบาดในเด็กเป็นจํานวนมากโดยเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี ในวันนี้ โรงพยาบาลเออีซี (aechospital) จะมาแบ่งปันข้อมูลที่ควรรู้ เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่นี้กัน ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สามารถจําแนก ออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B และ C โดยแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ อีกหลายชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง คือ ชนิด A และ B ส่วน สายพันธุ์ชนิด C มักไม่รุนแรง และพบประปราย มาทำความรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่กันให้มากขึ้น โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งเชื้อนี้มีหลายชนิดมากพอที่จะทำให้สามารถแยกไข้หวัดใหญ่ในคนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีก อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง 2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมมาก จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในวงกว้าง ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่จะแสดงอาการ ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีกล้ามเนื้ออักเสบ และอาการทางระบบหายใจตั้งเเต่ นํ้ามูก ไอมาก หรือ หากรุนเเรง อาจมีอาการหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ เสียชีวิต และอาจมีอาการที่ระบบอื่นอย่าง ระบบประสาท เช่น ไข้สูงเเล้วชัก ซึม หรือ ไข้สมองอักเสบได้ โดยทั่วไปหากเด็กปกติที่มีสุขภาพดีติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มักจะหายได้เองใน 7 วัน เเต่มีบางรายเกิดการติดเชื้อเเล้ว แสดงอาการรุนเเรงตามที่ กล่าวมา ส่วนเด็กที่มีโรคประจําตัว เช่น โรคหืด โรคหัวใจ เด็กที่ต้องกินยา Aspirin หรือในเด็กเล็กกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงใน การเกิดการติดเชื้อที รุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้อย่างไร 1.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย 2.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น 3.ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย 4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และใช้ช้อนกลาง 5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6.ดื่มน้ำสะอาด 7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 8.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น 9.ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพิ่มเติมจากตารางฉีดวัคซีนตามปกติ แนะนำให้ฉีดกับคนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 19 ปี คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่จะต้องไปคลินิกหรือไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ ช่วงฤดูไข้หวัด ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล คนที่กินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แม้ไข้หวัดใหญ่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ถ้าเรารู้เท่าทันและป้องกันตัวเอง ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง
PM 2.5 ภัยร้าย...อันตรายต่อสมอง
PM 2.5 ภัยร้าย...อันตรายต่อสมอง ภาวะมลพิษทางอากาศ ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ตะกั่ว ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นตัวชี้วัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้า PM 2.5 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมากเสียจนเราอาจคาดไม่ถึง ในปี 2560 มีข้อมูลพบว่าประชากรจำนวน 4.9 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 คิดเป็น 60% ของการเสียชีวิตเลยทีเดียว (GBD 2017 Risk Factor Collaborators, 2018) ดังนั้นเราคงต้องกลับมาใส่ใจเรื่องปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจาก PM 2.5 วันนี้ โรงพยาบาลเออีซี (aechospital) จะมาแบ่งปันข้อมูลของ PM 2.5 ให้ทุกคนได้ระวังภัยร้ายของ PM 2.5 กันให้มากขึ้น รู้หรือไม่ PM 2.5 ส่งผลต่อสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว Particulate Matter 2.5 หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครมิเตอร์หรือเล็กกว่า ซึ่งอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถผ่านการกรองของขนจมูกเข้าไปสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ทำให้ให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด หรือมะเร็งปอด ไม่เพียงเท่านี้ PM 2.5 ยังส่งผลต่อสมองอีกด้วย ในปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสกับ PM 2.5 อาจส่งผลเสียต่อสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ตระหนักถึงกันมากนักในเรื่องนี้ เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและมะเร็งเท่านั้น แต่…อย่างที่เรารู้กันว่า "สมอง" มีความสำคัญต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่าอวัยวะอื่นใด เช่นนี้แล้วเรามาดูกันว่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสมองของเราอย่างไรกันบ้าง ความบกพร่องทางสติปัญญา (Cognitive Impairment): มีการศึกษาพบว่า PM 2.5 ทำให้สมรรถนะการทำงานของสมองด้านความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Function) ลดลงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็ก ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความจำ ด้านความสนใจและจดจ่อ รวมถึงมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ลดลง ภาวะการอักเสบในสมอง: ฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้เกิดภาวะการอักเสบในสมองได้ เชื่อกันว่าการอักเสบส่งผลต่อการเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทต่างๆ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งอีกด้วย ผลกระทบด้านพัฒนาการ: การได้รับ PM 2.5 ในช่วงก่อนคลอดและในช่วงวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านระบบประสาทที่บกพร่องในเด็ก ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง และอาจเกิดโรคสมาธิสั้น (ADHD) และโรคออทิสติกได้ด้วย โรคทางสุขภาพจิต: มีบางการศึกษาเสนอความเชื่อมโยงกันระหว่างการสัมผัส PM 2.5 กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ โรคหลอดเลือดสมอง: การสัมผัสกับ PM 2.5 ในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้เกิดการอักเสบและทำลายหลอดเลือดในสมองได้นั่นเอง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ PM 2.5 ส่งผลคุกคามต่อสุขภาพสมองของเราเท่านั้น ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กำลังศึกษาถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การหันกลับมาดูแลตัวเอง ป้องกันและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM 2.5 คงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่ควรละเลยอีกต่อไป ดูแลสมองโดยการป้องกัน PM 2.5 ในเมื่อเรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของ PM 2.5 ที่กำลังเผชิญในขณะนี้ให้หมดไปได้ เราคงทำได้เพียงหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสกับ PM 2.5 ให้ได้มากที่สุด เพื่อการดูแลและป้องกันสุขภาพสมองของเราจากภาวะมลพิษทางอากาศ hhc Thailand มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ ตรวจสอบระดับคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นประจำ เช่น แอป Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษหรือแอปอื่นๆ บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อวางแผนในการทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้งให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช้าและเย็นซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่มีมลพิษสูงสุดของวัน จำกัดกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากๆ กลางแจ้งในวันที่มีมลพิษสูง เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน เนื่องจากการใช้กำลังมากจะส่งผลให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถรับปริมาณ PM 2.5 ได้มากกว่าสภาวะปกติ สวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกในช่วงวันที่มีมลพิษสูง ควรสวมหน้ากากที่กระชับและพอดีกับใบหน้าที่ออกแบบมาเพื่อกรองอนุภาค PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากาก N95 หรือ N99 สร้างสภาพแวดล้อมภายในอาคารหรือที่พักอาศัยให้สะอาดและมีการระบายอากาศที่ดี โดยการไม่สูบบุหรี่และจุดธูปเทียนภายในอาคาร การปิดหน้าต่างและประตูในวันที่อากาศมีมลพิษสูงและใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA เพื่อกำจัดอนุภาค PM 2.5 ออกจากอากาศภายในอาคาร ปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษ การปลูกต้นไม้สามารถช่วยดูดซับมลพิษรวมถึง PM 2.5 และช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นได้ แต่หากคุณมีพื้นที่ไม่มากพอที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ การเลือกปลูกไม้ประดับที่ช่วยดูดสารพิษในอากาศได้ดีก็เป็นทางเลือกที่ดี เช่น พลูด่าง เศรษฐีเรือนใน วาสนาอธิษฐาน เป็นต้น หากเราทุกคนตระหนักถึงภัยคุกคามจากภาวะมลพิษทางกาอากาศรวมถึง PM 2.5 การป้องกันและหลีกเลี่ยงคงไม่เพียงพอ เราคงต้องช่วยกันลดการปลดปล่อยมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง ทางเดินหายใจ หรือโรคมะเร็ง ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นที่ต้องการทั้งนั้น เริ่มต้นดูแล ใส่ใจตัวเองและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะ ขอขอบคุณข้อมูลจาก : hhcthailand
อธิบดีกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่สมุทรปราการและปทุมธานี ตรวจเยี่ยมศูนย์ CI เปิดให้บริการวันแรก
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ตรวจเยี่ยมการให้บริการวันแรกของศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดสมุทรปราการ และศูนย์ฯ จังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจเยี่ยมขั้นตอนการให้บริการ รับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่โดยมีนายสนธยา กาลาศรี จัดหางานจังหวัดระยอง รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ และนายมงคล สงคราม จัดหางานจังหวัดปทุมธานี พร้อมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ โดยนายสมชายฯ เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน อำนวยความสะดวกให้ทางการเมียนมาเข้ามาดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) สำหรับแรงงานเมียนมาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ได้รับอนุญาตทำงานจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ยังไม่มีหนังสือเดินทางหรือมีเอกสารรับรองบุคคลที่หมดอายุ หรือกำลังจะหมดอายุ โดยจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ และสงขลา สามารถรองรับผู้ใช้บริการวันละ 800 - 1,000 คน มีกำหนดเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 31 ตุลาคม 2567 ในวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 09.00 -17.30 น. และปิดให้บริการในวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยให้บริการทั้งรูปแบบศูนย์ ONE STOP SERVICE และรูปแบบรถ Mobile Team สำหรับแรงงานเมียนมาที่ต้องการเข้ารับบริการให้เตรียมสำเนาหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ติดต่อนัดหมาย วัน เวลา ที่จะเข้าใช้บริการศูนย์ฯ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมเอกสารรับรองบุคคลคล(CI) ของทางการเมียนมา ณ จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-eleven ก่อนเข้าใช้บริการ นายสมชายฯ กล่าวว่า สำหรับศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัดที่มีแรงงานเมียนมาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นที่ให้บริการครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศไทย เพื่อให้นายจ้างและแรงงานเมียนมาได้รับความสะดวก ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยสามารถเลือกใช้บริการศูนย์ฯ ตามความสะดวก ดังนี้ 1. จังหวัดชลบุรี สถานที่ตั้ง ตลาดนัดสยามนินจา(โป่งตามุข) 116 ม.1 ต.หนองหงษ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี 2. จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ตั้ง อาคารไดนาสตี้แลนด์ 34-34 ม.6 ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 3. จังหวัดนครสวรรค์ สถานที่ตั้ง 127 ม.2 ต.กลางแดด อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 4. จังหวัดปทุมธานี สถานที่ตั้ง ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ BO26-30 55/21 ม.4 ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 5. จังหวัดสงขลา สถานที่ตั้ง ตลาดฟุกเทียน 99 หมู่3 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 6. จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ตั้ง 339/2 ม.9 ซอยสุขสวัสดิ์ 74 ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 7. จังหวัดสมุทรสาคร สถานที่ตั้ง ตลาดทะเลไทย 1/2 ม.1 ถ.พระราม 2 ต.ท่าจีน อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 8. จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานที่ตั้ง มหาวิทยาลัยตาปี วิทยาเขตพุนพิน 45/45 ม.1 ต.มะลวน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
สถานที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่า ประจำปี 2567
1.ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสมุทรสาคร สถานที่ตั้ง ตลาดทะเลไทย เลขที่ 1/2 หมู่ที่ 1 ถนนพระราม 2 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 2. ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดสมุทรปราการ ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ตั้ง 339/2 หมู่ที่ 9 ซอยสุขสวัสดิ์ 74 ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 3. ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดชลบุรี ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ตั้ง 339/2 หมู่ที่ 9 ซอยสุขสวัสดิ์ 74 ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 4. ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดปทุมธานี ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดปทุมธานี สถานที่ตั้ง ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ B026-30 เลขที่ 55/21 หมู่ที่ 4 ตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 5. ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยตาปี วิทยาเขตพุนพิน เลขที่ 45/45 หมู่ที่ 1 ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 6. ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ตั้ง อาคารไดนาสตี้แลนด์ 34-34 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สา อำเภอแมริม จังหวัดเชียงใหม่ 7. ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดนครสวรรค์ สถานที่ตั้ง 127 หมู่ที่ 2 ตำบลกลางแดด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ 8. ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดสงขลา ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสงขลา สถานที่ตั้ง ตลาดฟุกเทียน เลขที่ 99 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา